หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เศรษฐศาสตร์น่ารู้

เรื่องที่ 1 เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

 ความหมาย  ความเป็นมาและความสำคัญของเศรษฐศาสตร์
นิยามความหมาย
         วิชาเศรษฐศาสตร์  (Economics)  คือ  วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด  โดยมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
คำว่า  “เศรษฐศาสตร์” (Economics)  เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า  “Oikonomikos”
(Oikos  =  บ้าน  +  nomos  =  การดูแลจัดการ)  ซึ่งแปลว่าการบริหารจัดการของครัวเรือน  อย่างไรก็ตามคำว่า  “เศรษฐศาสตร์”  นั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีขอบเขตกว้างกว่ารากศัพท์เดิมมาก
          ถ้าพิจารณาคำว่าเศรษฐศาสตร์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2525  หมายถึง  วิชาว่าด้วยการผลิต  จำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของชุมชน
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
            แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว  นักปราชญ์สมัยโบราณพยายามสอดแทรกแนวความคิดและกฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์ปะปนอยู่ในหลักปรัชญา  ศาสนา  ศีลธรรมและหลักปกครอง  แต่ความคิดเหล่านี้ยังไม่ถือเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์  เช่น  แนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำของเพลโต (Plato)  แนวคิดเรื่องความมั่งคั่ง  ของอริสโตเติล (Aristotle)  เป็นต้น
            ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษบุคคลแรกที่วางรากฐานวิชาเศรษฐศาสตร์  คือ อาดัม  สมิธ  (Adam  Smith)  ได้เขียนตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลก   “The  Wealth Nations”
(ความมั่งคั่งแห่งชาติ)  ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1776 โดยเสนอความคิดว่า  รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรเข้าแทรกแซงการผลิตและการค้าให้น้อยที่สุด  โดยยินยอมให้เป็นภาระหน้าที่ของเอกชน  ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวความคิดแบบเสรีนิยมหรือส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรี   ถือเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญเล่มแรกของโลก  และตัวเขาได้รับการยกย่องให้เป็น  “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์”  ในสมัยต่อมา
ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์
      1.ระดับบุคคลและครัวเรือน คือ นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ดังนี้คือ
                - พิจารณาเลือกซื้อสินค้า  เช่น ราคา  คุณภาพ ความพึงพอใจ และจำนวนเงินที่มีอยู่  เป็นต้น
                - ควบคุมค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว เช่น จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
       2. ระดับผู้ผลิต นำความรู้วิชาเศรษฐกิจไปใช้ในการผลิตสินค้า โดยพิจารณาถึงต้นทุนการผลิต เช่น
ค่าจ้างแรงงาน  ค่าวัสดุ ฯลฯ และผลกำไรที่จะได้รับ เป็นต้น
       3. ระดับผู้บริหารประเทศ ผู้นำรัฐบาลจะใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ของประเทศ จัดสรรทรัพยากรให้กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง  ซึ่งจะนำมาซึ่งความสงบและสันติสุขของสังคมในที่สุด
ขอบข่ายของวิชาเศรษฐศาสตร์
 การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  จำแนกตามเนื้อหาได้  2  สาขา คือ
                     1)  เศรษฐศาสตร์จุลภาค  (Microeconomics) เป็นแขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงปัญหาและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมในระดับหน่วยย่อยเป็นสำคัญ  มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆในระบบเศรษฐกิจ เช่น ระดับผู้บริโภค ระดับครอบครัว หรือการผลิต
ภาคเอกชน เช่น บริษัท ห้างร้าน เป็นต้น
                     2)  เศรษฐศาสตร์มหภาค  (Macroeconomics) เน้นศึกษาเรื่องราวหรือ  กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหรือระดับประเทศ  เช่น  ดุลการค้าระหว่างประเทศของไทย การบริหารงบประมาณแผ่นดินประจำปี  ปัญหาเงินเฟ้อ  และรายได้ประชาชาติ  เป็นต้น  
หน่วยเศรษฐกิจ
            ผู้มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจคือผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหน่วยเศรษฐกิจ  ได้แก่
                   1.  หน่วยครัวเรือน  (Household)  มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเบื้องต้น  เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  ครัวเรือนเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมการผลิตและการบริโภค  โดยผลิตสิ่งที่สมาชิกของครอบครัวมีความจำเป็นและมีความต้องการที่จะบริโภค
                   2.  หน่วยธุรกิจ (Firm)   คือ  บุคคลหรือองค์การที่มีบทบาทในการผลิตและบริการสินค้า  เพื่อแสวงหาผลกำไรและสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้คนในสังคม  เช่น  บริษัทห้างร้านต่างๆ
                   3.  รัฐบาล  (Government Agency)  มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ  โดยมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก
 ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
        ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรหรือปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คือจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร (WHAT, HOW, FOR WHOM)
จะผลิตอะไร : ควรผลิตสินค้า-บริการอะไร ในปริมาณเท่าใด  (what to produce)
        เนื่องจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจของโลกมีจำกัดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของมนุษย์ได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง ผลิตในจำนวนเท่าใด ลำดับของการผลิตควรเป็นอย่างไร อะไรควรผลิตก่อน อะไรควรผลิตหลัง เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ เราจึงควรเลือกผลิตสินค้า และบริการซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นมากที่สุดก่อนเป็นลำดับแรก และผลิตตามความต้องการ ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้นั้นสามารถนำไปใช้ตอบสนองความ ต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ผลิตตามความต้องการแล้วสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมา ได้ก็จะเกิดการสูญเปล่าเนื่องจากไม่ได้ถูกนำไปใช้ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์
จะผลิตอย่างไร : โดยใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  (how to produce)
         เมื่อทราบแล้วว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด ปัญหาต่อมาก็คือจะเลือกใช้เทคนิคการผลิตอย่างไรจึงจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด โดยให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการคำว่า ประสิทธิภาพ (ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด) หมายถึง ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตตามที่ต้องการ โดยใช้ทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตมากที่สุด ภายใต้ต้นทุนการผลิต จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
จะผลิตเพื่อใคร : จะกระจายสินค้าบริการไปให้ใคร  (for whom to produce)
          ปัญหาสุดท้ายคือ สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้น มาได้แล้วนั้นจะจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายไปยังบุคคลต่างๆในสังคมอย่างไร (ให้แก่ใคร จำนวนเท่าใด) จึงจะเหมาะสมและเกิดความยุติธรรม เพื่อแต่ละบุคคลจะได้ประโยชน์สูงสุดจากสินค้าและบริการนั้น            
ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของผู้บริหารในแต่ละประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ๆดังนี้
1)  ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม (Laissez-Faire or Capitalism)
         ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้  มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ  รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ แต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือการดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ
       ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
        เอกชนมีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่ตนถนัด กำไรและการมีระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นแรงจูงใจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เอกชนจะทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลิตได้มากน้อยเท่าไรก็จะได้รับผล ตอบแทนหรือรายได้ไปเท่านั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจระบบนี้จะมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือเทคนิคใหม่ๆอยู่เสมอทำให้เกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
       ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
        ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลโดยพื้นฐาน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ ในหลายๆกรณี ราคาหรือกลไกตลาดยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สินค้าและบริการที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งได้แก่ บริการด้านสาธารณูปโภค (น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน เขื่อน สะพาน ฯลฯ) จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินลงทุนมาก เทคโนโลยีที่ทันสมัย เสี่ยงกับการขาดทุนเนื่องจากมีระยะการคืนทุนนาน ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เอกชนไม่ค่อยกล้าลงทุนที่จะผลิต ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแทน อันเนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องการ จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวราคาไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรได้ การใช้ระบบการแข่งขันหรือกลไกราคาอาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่าง สิ้นเปลือง เช่น ในบางช่วงที่มีการแข่งขันกันสร้างศูนย์การค้าเพราะคิดว่าเป็นกิจการที่ให้ผลตอบแทนหรือกำไรดี ศูนย์การค้าเหล่านี้เมื่อสร้างขึ้นมามากเกินไปก็อาจไม่มีผู้ซื้อมากพอ ทำให้ประสบกับการขาดทุน กิจการต้องล้มเลิก เสียทุนที่ใช้ไปในกิจการนั้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอย่างเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มค่า เป็นต้น
2)  ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
        ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการและทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ หน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่าทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจ มักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (central planning) โดยคำนึงถึงสวัสดิการ ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญโดยสรุประบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางรัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียวเอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการ เท่านั้น
        ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ก็คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของบุคคลในสังคม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนจะทำการผลิตและ บริโภคตามคำสั่งของรัฐ ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และรัฐจะเป็นผู้จัดสรรหรือแบ่งปัน สินค้าและบริการดังกล่าวให้ประชาชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ
        ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
ประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะผลิตหรือบริโภคอะไรได้ตามใจ ถูกบังคับหรือสั่งการจากรัฐ
สินค้ามีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ เพราะไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้ มากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกจะต้องบริโภคตามการปันส่วนที่รัฐจัดให้
การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะมีข่าวสารสมบูรณ์ในทุกๆเรื่อง เช่น รัฐไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทำให้ผลิต สินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีสินค้าเหลือ (ไม่เป็นที่ต้องการ) จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น
3)  ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
        ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ไว้เกือบทั้งหมด และเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน กิจการหลักที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ น้ำมัน กิจการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ฯลฯ รัฐจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม รัฐยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้างพอสมควร เอกชนมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน เช่น สามารถทำธุรกิจค้าขายขนาดย่อมระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อการยังชีพ โดยสรุป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลไกราคาพอจะมีบทบาทอยู่บ้างในระบบเศรษฐกิจนี้
       ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง ฐานะและรายได้ของบุคคลเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนมีเสรีภาพและมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินบ้างพอสมควร
       ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานอยู่ในการควบคุมของ รัฐบาลทำให้ขาดความคล่องตัว การผลิตถูกจำกัดเพราะต้องผลิตตามที่รัฐกำหนด โอกาสที่จะขยายการผลิตหรือพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปค่อนข้างลำบาก ทำให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
 4)  ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
       ระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมีทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนที่เป็นแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง มีเสรีภาพในการเลือกผลิตหรือบริโภค ใช้ระบบของการแข่งขัน กลไกราคาเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยม คือ รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนมากเพราะหาเอกชนลงทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการในกิจการดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้เอกชนทำการแข่งขัน โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทั้งระบบกลไกราคา หรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกรัฐในการจัดสรรทรัพยากร
        ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
        เป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความคล่องตัว กล่าวคือมีการใช้กลไกรัฐร่วมกับกลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากรของระบบ กิจการใดที่กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐก็จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (ใช้ระบบของการแข่งขัน) แต่ถ้ากิจการใดที่กลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐก็จะเข้ามาดำเนินการแทนจะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสาน กล่าวคือ รวมข้อดีของทั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน
       ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
        การมีกำไรและระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ และรายได้เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมการที่รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้กลไกรัฐอาจก่อให้เกิดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ปัญหาเอกชนไม่กล้าลงทุนอย่างเต็มที่เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีความผันผวนและแปรเปลี่ยนได้ง่าย อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง
เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
       การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ ดังนี้
       1. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่นเข้าใจถึงสาเหตุที่สินค้ามีราคาแพง  ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีอัตราต่ำ เป็นต้น
       2. เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพที่ตนถนัด เช่น การจัดทำร้านอาหาร
ต้องพิจารณาในเรื่องต้นทุน  วัตถุดิบ รสนิยมและรายได้ของผู้บริโภค เป็นต้น
       3. เพื่อให้เข้าใจแนวนโยบายและการปฎิบัติงานของรัฐบาล  เช่น การขึ้นอัตราภาษีอากรและการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ฯลฯ  ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความร่วมมือกับทางราชการในที่สุด
ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์
         ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่เรานำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการ เช่น เครื่องจักรใช้ในการผลิตสินค้า  และที่ดินใช้เพาะปลูกพืช  เป็นต้น ดังนั้นจึงเรียกให้ชัดเจนว่าทรัพยากรการผลิตหรือปัจจัยการผลิต
         การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์
 ความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากร  ความต้องการ  ความขาดแคลน  การเลือก  และค่าเสียโอกาส
เพิ่มคำอธิบายภาพ













1. ทรัพยากรมีจำกัด    
         ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ทรัพยากรการผลิต หรือ  ปัจจัยการผลิต  หมายถึง  สิ่งที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสอนงความต้องการของมนุษย์ ได้แก่
          ที่ดิน (land)  คือ  พื้นดิน  รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่บนผิวดิน  ปะปนในดิน  และในอากาศเหนือพื้นดินนั้นเช่น ท้องนา พื้นดิน น้ำฝน อากาศ แสงแดด  แร่ธาตุ ฯลฯ
          แรงงาน       คือ ทรัพยากรมนุษย์ หรือผู้ใช้กำลังกาย และความคิดในการผลิตสินค้าหรือบริการ  เช่น  กรรมกร  ลูกจ้าง  ช่างไฟฟ้า  ข้าราชการ วิศวกร  แพทย์ พยาบาล พนักงาน   ฯลฯ
          ทุน (capital)   ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์  หมายถึง  สิ่งที่สามารถใช้ได้คงทน  และผลิตสินค้าและบริการได้โดยตรง  เช่น  โรงงาน  เครื่องจักร  อุปกรณ์การผลิตซึ่งแตกต่างจากความหมายทางธุรกิจ หมายถึง เงินสด  หรือเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน
          การประกอบการ (entrepreneurship)  คือ  การรวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆ  มาผลิตสินค้าและบริการ  ผู้ที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า ผู้ประกอบการ เช่น  เจ้าของร้านค้า เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์  เจ้าของสวนทุเรียน
2. ความต้องการมีไม่จำกัด
          มนุษย์โดยทั้วไปมีความต้องการ  หรือความอยากได้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีขอบเขต เช่น เมื่อมีปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม  อาหาร  ยารักษาโรค  และที่อยู่อาศัยเพียงพอแล้วก็อยากได้สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ  สิ่งที่จะเชิดหน้าชูตาและยกระดับฐานะทางสังคมของตนและอื่นๆ  ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด  กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการตัดสินใจในการผลิต การกระจายและการแลกเปลี่ยนเกิดจากความพยายามที่จะสนองความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์
         ความต้องการในทางเศรษฐศาสตร์ (economic wants)  หมายถึง  ความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่แล้ว  แต่ไม่เพียงพอหรือไม่มีอยู่เลย  และเราต้องมีเงินพอที่จะซื้อหามาได้  ความต้องการของมนุษย์เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การผลิต การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการบริโภค  ส่วนความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์ (economic needs)  หมายถึง  ความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องมีไว้เพื่อสนองวามต้องการให้สามารถดำรงชีพได้ตามอัตภาพ ได้แก่ ปัจจัยสี่  คือ  อาหาร  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่ม  และยารักษาโรค  ส่วนความต้องการเครื่องสำอาง  เสื่อผ้าแฟชั่นราคาแพง  เครื่องประดับมีค่าเหล่านี้เป็นความต้องการทางเศรษฐศาสตร์มิใช่ความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์
ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี่  อาจมีสิ่งจำเป็นสำหรับการครองชีพเพิ่มขึ้น  เช่น  วิทยุ  โทรทัศน์  รถยนต์  เครื่องใช้ไฟฟ้า  เป็นต้น  ซึ่งแต่เดิมจัดเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับผู้มีรายได้สูงเท่านั้น
          ความต้องการในทางเศรษฐศาสตร์  จำเป็นต้องสัมผัสได้และสามารถวัดหรือคำนวณมูลค่าเป็นเงินได้  แต่มีความต้องการหลายประเภทที่ไม่สามารถสัมผัสและคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น ความรักจากพ่อแม่  การยอมรับจากเพื่อนร่วมชั้น  ความเคารพนับถือจากเพื่อนบ้าน  ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงไม่จัดเป็นความต้องการทางเศรษฐศาสตร์
          เราจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากจะจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างความต้องการและความจำเป็นในทางเศรษฐศาสร์ ตัวอย่างเช่น การมีบ้านหลังใหญ่ จำนวนครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมากก็จะถือได้ว่าเป็นความจำเป็นต้องมีบ้านหลังใหย่ แต่สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น  การมีบ้านหลั้งใหญ่นับเป็นความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นต้น
3. ความขาดแคลน
           หากเรามีทรัพยากรเหล่านี้อยู่มากมายหรือมีไม่จำกัด  เราก็สามารถผลิตสินค้าและบริการสนองตอบความต้องการของคนในประเทศได้อย่างเพียงพอ  ปัญหาความขาดแคลน (scarcity)  ในประเทศต่างๆ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น  แต่ในความเป็นจริงนั้น  ความขาดแคลนและปัญหาเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ทั่วโลก  เนื่องจากทรัพยากรการผลิตของประเทศต่างๆ มีอยู่อย่างจำกัด  แต่ความต้องการของคนเรามีมากมายไม่จำกัดนั่นเอง
           เนื่องจากทรัพยากรทุกชนิดนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายทาง  จึงเป็นทางเลือก (choice) ประกอบกับการขาดสมดุลระหว่างทรัพยากรกับความต้องการของมนุษย์  จึงต้องมีการตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และเป็นที่พึงพอใจของคนส่วนใหญ่  ส่วนทางด้านการบริโภคก็จะต้องตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีประโยชน์  หรือให้ความพอใจแก่ตนเพื่อให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป
4. การเลือก  คือ การตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าใช้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
5.  ค่าเสียโอกาส
          การเลือกทุกกรณีจะมีต้นทุนการเลือก  เรียกว่า  ค่าเสียโอกาส (opportunity cost)  ซึ่งหมายถึงมูลค่าของทางเลือกที่ดีที่สุดในการใช้รัพยากร  ที่ต้องเสียสละไปเมื่อได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกอื่น  ตัวอย่างเช่น มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งถ้าให้เขาเช่าจะได้ค่าเช่าปีละ 60,000 บาท  ถ้าปลูกผักจะมีรายได้ปีละ 12,000 บาท  และถ้าปลูกพืชไร่จะมีรายได้ปีละ 10,000 บาท ดังนั้น
           • ถ้าให้เขาเช่า  มีต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นรายได้จากการปลูกผักปีละ 12,000 บาท  (รายได้จากการปลูกผักสูงกว่าการปลูกพืชไร่)
           • ถ้าปลูกผัก      มีต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นค่าเช่าปีละ 60,000 บาท  (รายได้จากค่าเช่าสูงกว่ารายได้จากการปลูกผักและปลูกพืชไร่)
           • ถ้าปลูกพืชไร่   มีต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นค่าเช่าปีละ 60,000 บาท  (รายได้จากค่าเช่าสูงกว่ารายได้จากการปลูกผัก)
             ในทางเศรษฐศาสตร์การเลือกจะเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนการได้ใช้ทรัพยากรหนึ่งๆ โดยยอมเสียโอกาสใช้ทรัพยากรอื่นลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า trade – offs


เรื่องที่ 2  การบริโภค

ความหมายของการบริโภค

           การบริโภคในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์  มีความหมายรวมทั้งการกินและการใช้สินค้าหรือบริการ
           ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อ หรือผู้ใช้สินค้าและบริการ เพื่อสนองตอบความต้องการของตน ผู้บริโภคจึงเป็นประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการ อาจเรียกอย่างอื่นได้ เช่น ผู้ซื้อ  ลุกค้า  ผู้ชม ผู้ฟัง
ผู้โดยสาร ฯลฯ
ประเภทของการบริโภค
          การบริโภคทำให้เกิดรายจ่ายของครัวเรือน โดยนำเงินไปซื้อสินค้าหรือบริการ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆการบริโภคมี 3 ประเภท ดังนี้
          1. การบริโภคสินค้าคงทน หรือมีอายุใช้งานได้นาน เช่น การใช้รถยนต์  บ้านที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า  เสื้อผ้า  ฯลฯ
          2.  การบริโภคสินค้าไม่คงทน หรือมีอายุใช้งานสั้นๆ เช่น การกินอาหาร  การใช้สบู่  ยาสีฟัน การใช้
กระแสไฟฟ้า ประปา น้ำมันเชื้อเพลิงฯลฯ
         3. การบริโภคด้านบริการ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือ  ชมภาพยนตร์ นั่งรถโดยสาร  เข้าร้านตัดผม  เข้าอู่ซ่อมรถยนตร์  ฯลฯ

พฤติกรรมการบริโภค  หมายถึง  พฤติกรรมของผู้บริโภคในการตัดสินใจ และแสดงออกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ   มาบริโภคเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุด
การบริโภคที่มีประสิทธิภาพ   คือ  การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ โดยคำนึงถึงหลักการบริโภคที่ดี ได้แก่ ความจำเป็น ประโยชน์ที่ได้รับความปลอดภัยและความประหยัด ใช้สินค้าและบริการอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

 ความสำคัญของการบริโภค
          การบริโภค  เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ  เนื่องจากมนุษย์ทุกคนต้องบริโภค  เพื่อการดำรงชีวิต  และการบริโภคยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุน  การจ้างงาน ทำให้มีรายได้ทั้งผู้ผลิต  และเจ้าของปัจจัยการผลิต  มีสินค้าและบริการบริโภคเพิ่มขึ้น   ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น

 หลักการบริโภคที่ดี
         ผู้บริโภคควรคำนึงถึงหลักการบริโภคที่ดี  ดังนี้ คือ
        1. ความจำเป็น  หมายถึง  สิ่งที่จำเป็นต้องบริโภค มิฉะนั้นจะทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือ ครอบครัว  ส่วนใหญ่สิ่งที่จำเป็นในการครองชีพ  คือ ปัจจัยสี่  ได้แก่ อาหาร  ที่อยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค
        2. ความมีประโยชน์  หมายถึง บริโภคในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว โดยไม่ทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน
        3. ความปลอดภัย   หมายถึง   เมื่อบริโภคสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว ไม่เกิดอันตรายต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อม  โดยการอ่านฉลากสินค้า พิจารณาส่วนประกอบ วันผลิต และวันหมดอายุ   หรือการรับรองคุณภาพสินค้าจากหน่วยงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและน่าเชื่อถือ
        4. ความประหยัด  หมายถึง  ประมาณการบริโภค ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยคำนึงถึงคุณภาพ  ราคาที่เหมาะสม ใช้จ่ายตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล ไม่เลียนแบบการบริโภค ไม่ฟุ่มเฟือย  ทำให้ใช้ ประโยชน์จากสินค้าและบริการอย่างคุ้มค่า

  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภค
          การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ มาบริโภค ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภค  ดังนี้
         1. รายได้ของผู้บริโภค   การบริโภคจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้บริโภค กล่าวคือ ถ้า มีรายได้มากขึ้นก็จะเพิ่มการบริโภค  แต่ถ้ารายได้ลดลงก็จะลดการบริโภคลง
         2. ราคาของสินค้าและบริการ ปริมาณการบริโภคขึ้นอยู่กับราคาสินค้าหรือบริการชนิดนั้น กล่าวคือ ถ้าราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการบริโภคจะลดลง แต่ถ้าราคาสินค้าลดลง ปริมาณการบริโภคจะเพิ่มขึ้น
         3. รสนิยมหรือค่านิยมในการบริโภค ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภค และแตกต่างกันตามบุคคล  อายุ  เพศ  ระดับการศึกษา รายได้ อาชีพ  สังคมและสภาพแวดล้อม  เป็นต้น
         4. การโฆษณา  เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดนั้นเพิ่มขึ้น
         5. สังคมและสิ่งแวดล้อม
                   - ระดับการศึกษา  คนมีการศึกษาจะเลือกซื้ออาหารที่สะอาดและมีคุณค่าทางโภชนาการ
                   - ฤดูกาล หรือลมฟ้าอากาศ ฤดูร้อนผู้บริโภคจะซื้อเครื่องปรับอากาศมากขึ้น และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย
                   - ประเพณีและวัฒนธรรม ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าบางชนิดในช่วงเทศกาลตรุษจีน  ปีใหม่  เข้าพรรษา สงกรานต์  สารทเดือนสิบ ฯลฯ
                   - ฤดูกาล หรือลมฟ้าอากาศ ฤดูร้อนผู้บริโภคซื้อเครื่องปรับอากาศมากขึ้น ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยคลายร้อนมากขึ้น  ซื้อเครื่องดื่มประเภท นำ้แข็ง ไอศกรีม มากขึ้น  ฤดูหนาว ซื้อเสื้อหนาว ผ้าห่มเครื่องทำความร้อน ผ้าห่ม  ฤดูฝนซื้อร่ม เสื้อกันฝน รองเท้ายาง
                   - อาชีพ ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับอาชีพของตน เช่น เกษตรกรเสื้อจอ เสียม ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ชนชั้นกลางซื้อรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์  ฯลฯ
       
 ค่านิยมกับพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศ 

          ค่านิยม  หมายถึง ความรู้สึกสนใจ พอใจ ของมนุษย์   เป็นแนวทางที่มนุษย์ยึดถือเพื่อประพฤติปฏิบัติ  มีการยอมรับอย่างแพร่หลายจากสมาชิกของสังคม
          บุคคลในสังคมจะถูกกระตุ้นให้มีส่วนร่วมให้แสดงพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุค่านิยม   สังคมไทยมีลักษณะของค่านิยมและพฤติกรรมในการบริโภค  ดังนี้
          1. ค่านิยมความร่ำรวย และนิยมใช้สินค้าจากต่างประเทศ
                    -   พฤติกรรมการบริโภค  บุคคลที่มีค่านิยมนี้  จะซื้อหรือใช้สินค้าที่มีราคาสูง  โดยเฉพาะสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีราคาแพงจากต่างประเทศ   นับถือคนที่ร่ำรวยหรือคนในสังคมชั้นสูง  
                    -    ผลที่มีต่อเศรษฐกิจ  ทำให้เป็นคนฟุ่มเฟือย นำไปสู่ปัญหาหนี้สิน และการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ทำให้ขาดดุลการค้า  ควรปรับเปลี่ยนค่านิยม โดยการปลูกฝัง เรื่อง  ความประหยัด
          2. ค่านิยมรักษาสุขภาพ  
                   -   พฤติกรรมการบริโภค  บุคลที่มีค่านิยมนี้  จะคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย   ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาความสะอาด พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไปพบแพทย์เป็นประจำ  เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง ต้องการมีชีวิตที่ยืนยาว   รวมทั้งดูแลสุขภาพคนในครอบครัวด้วย
                  -    ผลที่มีต่อเศรษฐกิจ     ไม่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งของตนเองและของรัฐบาล   มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี         เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศ
        3. ค่านิยมการบริโภคนิยม
                 -  พฤติกรรมการบริโภค  บุคคลที่มีค่านิยมนี้  จะฟุ่มเฟือย  บริโภคตามกระแสนิยม  บริโภคโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องใด ๆ ไม่ว่าจะราคา  สุขภาพ  รายได้ หรือความจำเป็น นอกจากความพึงพอใจของตน
                 -  ผลที่มีต่อเศรษฐกิจ   ทำให้ต้องพยายาม ดิ้นรน หาสิ่งที่ตนต้องการ ไม่มีวินัยทางการเงิน  เสียเงินโดยไม่จำเป็น  ใช้สินค้าและบริการสิ้นเปลือง และไม่คุ้มค่า  ทำให้มีปัญหาหนี้สิน นำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ   และปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา
       4. ค่านิยมรักความสนุก
                 -  พฤติกรรมการบริโภค  บุคคลที่มีค่านิยมนี้  เป็นคนที่ชอบความสนุกสนาน  รื่นเริง  ชอบสังสรรค์กับเพื่อนๆ ญาติพี่น้องในทุกโอกาส  ทุกเทศกาล
                 -  ผลที่มีต่อเศรษฐกิจ  ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท  แต่ก็ทำให้มีการกระจายรายได้ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในประเทศ  เป็นการสร้างงาน  สร้างรายได้ไปให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ  เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศให้ดีขึ้น
       5. ค่านิยมการดำรงชีวิตเรียบง่ายและประหยัด
                 -   พฤติกรรมการบริโภค  บุคคลที่มีค่านิยมนี้  จะเป็นคนเรียบง่าย ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อว่าจะคุ้มค่าหรือไม่   สามารถออมเงินได้ดี   ไม่นิยมก่อหนี้สินให้กับตนเองหรือครอบครัว
                -  ผลที่มีต่อเศรษฐกิจ  ค่านิยมนี้เป็นค่านิยมที่ดี เพราะเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  อยู่อย่างพอเพียงตามฐานะ    ไม่สร้างปัญหาให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคม และเงินออมยังเป็นผลดีต่อการลงทุนในชุมชนและประเทศ
               นอกจากนี้ยังมีค่านิยมอื่น ๆ  ที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ทั้งที่เป็นค่านิยมส่วนตัวและค่านิยมของสังคม ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ เช่น  ค่านิยมการทำบุญ  การเชื่อโชคลางของขลัง  เป็นต้น

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย
              1. ความเจริญของสังคม  จากสังคมเกษตร เป้นสังคมอุตสาหกรรม  ทำให้เกิดการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นมากมาย  มีให้เลือกหลายระดับคุณภาพและราคา จึงกระตุ้นการบริโภคของผู้ซื้อ
              2.  ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ที่ให้ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตแก่คนในรุ่นปัจจุับัน  เช่น โทรศัพท์มือถือ  แผ่นซีดี เพลงและภาพยนตร์ คอมพิวพิวเตอร์ และ
อินเตอร์เน็ท เป็นต้น
              3.  การโฆษณาสินค้าทางสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าเิกินความจำเป็น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น